วัดพระแก้ว
ข้อมูลสถานแหล่งท่องเที่ยว
วัดพระแก้ว (จังหวัดชัยนาท)เป็นวัดที่เก่าแก่ เดิมเรียกว่าวัดแก้วหรือวัดพบแก้ว ตั้งอยู่ที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นวัดเก่าแก่รุ่นเดียวกับวัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี ภายในวัดมี "ราชินีแห่งเจดีย์ในเอเชียอาคเนย์" ซึ่งเป็นเจดีย์แบบละโว้ทรงสูงผสมกับศิลปะทวารวดี ตอนปลายฐานเรือนธาตุแบบลดท้องไม้เนศิลปะสุโขทัยและศรีวิชัยผสมกัน บริเวณหน้าเจดีย์มีวิหารหลวงพ่อฉาย ซึ่งที่ด้านหลังของพระพุทธรูปมีทับหลังแกะสลักติดอยู่ โดยสันนิษฐานว่าน่าจะขนย้ายมาจากปราสาทแห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชา วัดนี้จึงเป็นอีกวัดหนึ่งที่เป็นวัดสำคัญของจังหวัดชัยนาท ที่วัดมีหลวงพ่อฉาย เป็นพระประธานที่อยู่ในวิหารทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน ถูกบูรณะโดย หลวงสรรค์บุรานุรักษณ์(ฉาย อัมพศวตร) ในสมัยรัชกาลที่5 ด้านหลังของหลวงพ่อฉาย พบว่ามีทับหลังหินทรายติดกลับหัวอยู่ที่ข้างหลังองค์พระ มีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเหนือหน้ากาลหม่อมเจ้าสุภัทรดิศดิศกุลได้ทรงจัดทับหลังชิ้นนี้อยู่ในศิลปะเขมรสมัยบาปวนมีอายุราวปี พ.ศ. 1550 ถึง1650 เข้าใจว่าเป็นทับหลังที่ย้ายมาจากปราสาทเขมรที่เคยตั้งอยู่ในบริเวณวัดหรือบริเวณใกล้เคียง
ความน่าสนใจ
พระเจดีย์ทรงเหลี่ยมตั้งตระหง่านเป็นไฮไลท์ ลักษณะคล้ายเจดีย์สมัยสุโขทัย สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสมัยสุโขทัยกับศรีวิชัยผสมผสานกันจนกลายเป็นเอกลักษณ์และหาชมได้เฉพาะที่นี่ เจดีย์มีพระพุทธรูปประดับทั้ง 4 ด้าน บนฐานชั้นที่ 3 ในซุ้มตรงกลางเป็นพระพุทธรูปปั้น ปางถวายเนตรประทับยืนขนาบทั้งสองข้างด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นปางประทานอภัย ลักษณะพระพุทธรูปสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้นเนื่องจากมีเค้าโครงศิลปะสุโขทัยผสม ที่เห็นได้ชัดคือพระรัศมีเป็นเปลวเพลิงถัดแท่งสี่เหลี่ยมทรงสูงขึ้นไปเป็นแท่งแปดเหลี่ยม มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายพระเนตรประทับยืนทั้งสี่ทิศ ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เหมาะสำหรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่าของเมืองไทย น่าชม เจดีย์แบบละโว้ทรงสูง ผสมกับเจดีย์ทวารวดีตอนปลาย สร้างแบบสอปูน เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานไพที ฐานเขียงและฐานเรือนธาตุแบบลอดท้องไม้ มีพระพุทธรูปปั้นแบบนูนสูงประดับทั้งสี่ด้าน สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 อายุราว 600-700 ปี ลักษณะการก่อสร้างแฝงคติธรรมไว้ตั้งแต่ฐานสี่เหลี่ยม หมายถึงพระพุทธศาสนาโดยมีอริยสัจสี่เป็นฐาน เป้าหมายสูงสุดคือพระนิพาน ซึ่งแทนด้วยยอดเจดีย์ ฐานสูงแปดเหลี่ยมหมายถึงอริยมรรคมีองค์แปด ปล้องไฉน 12 ปล้องหมายถึงปฏิจจสมุทปบาท สิ่งที่อาศัยกันเกิดเหมือนลูกโซ่ ความสูง 37 เมตร คือโพธิปักขิยธรรม ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ 37 ประการ อันประกอบด้วย สติปัฏฐาน 4 สัมมัปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 85 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และอริยมรรคมีองค์ 8 พระสถูป เดิมทีเจดีย์แห่งนี้มีเจดีย์บริวารรายล้อมอยู่หลายสิบองค์ หลวงพ่อฉาย เป็นพระพุทธรูปศิลาแลงสีแดง ตั้งอยู่ในวิหารด้านหน้าพระเจดีย์สี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 800 ปี ด้านหลังหลวงพ่อฉายมี "ทับหลัง" ซึ่งแกะสลักติดกับองค์ ตั้งอยู่ชิดกำแพงวิหารมาก เป็นรูปช้างนอนหงายอยู่บนแท่น ส่วนบนสุดเป็นรูปพระอินทร์หรือพระศิวะกำลังหลั่งน้ำมนต์มีทางน้ำมนต์ไหลถึงตัวช้างที่นอนหงายบนแท่น หลวงพ่อพลอย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น หน้าตักกว้าง 2 เมตร เดิมอยู่วัดทัพย่าน ตำบลเที่ยงแท้ อำเภอสรรคบุรี ซึ่งเป็นวัดร้างและประชาชนชาวบางน้ำพระร่วมใจกันอัญเชิญใส่เกวียนมา แล้วใช้แพข้ามแม่น้ำน้อยมาประดิษฐานที่วัดพระแก้ว จึงเรียกกันว่า "หลวงพ่อลอย"
อ้างอิง
https://th.trip.com/moments/detail/thiang-thae-1452155-15049782?locale=th-TH สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2566